แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเขตเทศบาลตำบลทะเมนชัย
วัดหนองหญ้าปล้อง (วัดป่าทะเมนชัย)
สามเณรจากวัดหนองป่าพง มาปักกรดบริเวณป่าช้าแล้วพิจารณาว่าสามารถเป็นวัดและรักษาสถานที่แห่งนี้ไว้ ญาติโยมที่เลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติของพระสายวัดป่าจึงกราบนิมนต์ให้อยู่ ต่อมาสามเณรได้นิมนต์พระสายวัดป่ามาเป็นประธานสงฆ์ คือพระครูกิตติธรรมธร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน แรกเริ่มเมื่อท่านมาอยู่ก็สำรวจสิ่งของเครื่องใช้ในวัด ได้ค้นพบพระอบที่ใส่พระบรมสารีริกธาตุ อยู่หลังพระประธานในศาลาคาดว่าประธานสงฆ์องค์เดิมคงนำมาเก็บรักษาไว้ ท่านเจ้าอาวาสจึงกราบเรียนหลวงพ่อ เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ศิษย์เอกหลวงพ่อชา มาเป็นที่ปรึกษา
เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2532 เจ้าอาวาสนำพระสงฆ์พร้อมญาติโยมสวดพระพุทธมนต์ ทำวัตร เช้า – เย็น เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อถอนที่ตรงนั้น แล้วกำหนดเอาวันเพ็ญเดือน 6 เป็นวันวางศิลาฤกษ์สร้างพระเจดีย์ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้แนะนำให้สร้างรูปทรงพระธาตุพนม คือ จำลองแบบย่อจากพระธาตุพนม เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมอีสานไว้ กำหนดความกว้างฐานพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร สูง 29 เมตร รวมทั้งฉัตรทั้งหมด 31 เมตร รวมงบประมาณการก่อสร้างจากการอนุโมทนาบุญญาติโยมในชุมชน และจากทุกสารทิศได้มาร่วมอนุโมทนาก่อสร้าง ทั้งสิน 1,500,421 บาท ระยะเวลา 2 ปีแล้วเสร็จ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2533 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ ตรงยอดพระเจดีย์ประมาณ 100,000 องค์ มีพระพุทธรูปประดิษฐาน หน้าตักกว้าง 50 นิ้ว นามหลวงพ่อเพชร มีกำแพงพญานาคล้อมรอบประตูทั้งสี่ทิศ
โดยคืนก่อนวันวางศิลาฤกษ์ พระเณร ญาติโยมที่จัดเตรียมงาน ได้ประจักษ์สิ่งมหัศจรรย์ คือ มีลูกแก้วขนาดเท่าไข่เป็ดลอยมาทางอากาศ ไปตกตรงทางทิศเหนือห่างจากพระเจดีย์ หลวงพ่อกล่าวว่าเป็นนิมิตรหมายอันจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองในวันข้างหน้า หลวงพ่อประธานสงฆ์ได้ตั้งชื่อพระเจดีย์ใหม่ว่า “พระมหาเจดีย์ศรีทะเมนชัย”
ศาลเจ้าพ่อหินตั้ง
พื้นที่เทศบาลตำบลทะเมนชัยในทุกหมู่บ้านจะมีศาลเจ้าที่ ซึ่งประชาชนในชุมชนนั้นๆ ให้การเคารพนับถืออยู่ แต่หากมองภาพรวมในตำบลทะเมนชัย “ศาลเจ้าพ่อหินตั้ง” นับได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวในศาลที่ประชาชนทั้งตำบล รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือมากที่สุด ด้วยความที่มีประวัติเล่าลือกันมารุ่นต่อรุ่น ถึงตำนาน ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือของศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานนับร้อยปี
โดยใน 1 ปี จะมีงานประจำปีศาลเจ้าพ่อ 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จำนวน 2 คืน กิจกรรมในช่วงนี้จะมีขบวนแห่เจ้าพ่อหินตั้ง เจ้าพ่อไฟ และเจ้าพ่อศาลตาปู่มาที่บริเวณเต้นท์จัดงานหน้าตลาดทะเมนชัยในช่วงกลางวัน มีการกราบไหว้ขอพรของห้างร้านต่างๆ ช่วงหัวค่ำจะมีงานเลี้ยงโต๊ะจีน มีการประมูลสิ่งของเพื่อหารายได้เข้ากองทุนของศาลเจ้าพ่อ โดยจะมีเถ่านั้ง ผู้ที่เป็นหัวเรือหรือหัวหน้าในการจัดงานแห่เจ้า ซึ่งก็ประกอบด้วยพ่อค้า แม่ค้าจากร้านต่างๆ ในตำบลรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมโดยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในทุกๆ ปี มีการแสดงลิเก ร้านค้า ตลอดจนซุ้มเครื่องเล่นต่างๆ
ไฮไลท์ในแต่ละปีจะอยู่ที่การประมูลต้นไผ่ทีกงเต็ง(ต้นไผ่ประดับโคมบูชาเทพยดาฟ้าดิน ภายหลังก็ประดับดวงไฟหลากสีไปด้วยเพื่อความสวยงาม ซึ่งจะมีอยู่เพียงต้นเดียวของงาน ตั้งอยู่ที่แท่นบูชาเทพยดาฟ้าดินของงานพิธีศาลเจ้า โดยจะมีการคัดเลือกต้นไผ่ที่มีทรงตรง ใบพุ่มสวยได้ที่ นับจำนวนปล้องไผ่ตามความสูง ก่อนตัดก็ต้องมีการไหว้บูชา บอกกล่าวเสียก่อน เพราะถือเป็นของมงคล ตัวเทนสื่อถึงเทพยดาชั้นสูง ที่ผ่านมาราคาที่สู้กันนั้นตั้งแต่หลักหมื่น จนถึงเกือบแสนบาท ตามความเชื่อผู้ประมูลได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวจีนที่ประกอบกิจการค้าและอาจขอเรื่องกิจการค้าเอาไว้ เมื่อค้าขายได้ผลประกอบการดี ก็มาแข่งราคากันประมูลเพื่อทำบุญเข้าศาลเจ้า และเมื่อประมูลได้แล้ว หลังเสร็จงานก็จะมีเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าจัดขบวนแห่ไปส่ง และติดตั้งให้ที่บ้านหรือร้านค้าอย่างเรียบร้อย
ครั้งที่สอง ช่วงวันสงกรานต์ในเดือนเมษายนของทุกปีจะมีเทศกาลลิเกแก้บนศาลเจ้าพ่อหินตั้ง โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดศาลล่วงหน้าก่อนวันจัดงานของทุกปี ซึ่งมีการกำหนดให้ทุกวันที่13 เมษายน ของทุกปีเป็นการจัดงานวันแรก โดยชาวบ้านร้านตลาดทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุจะช่วยกันนำทุกสิ่งที่อยู่ภายในศาลมาทำความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัย รูปปั้นช้างม้า ผ้าแพรหลากสี อาวุธ ฯลฯ มีขบวนแห่เจ้าพ่อไฟ และเจ้าพ่อศาลตาปู่มาที่บริเวณศาลเจ้าพ่อเพื่อร่วมชมงาน โดยในแต่ละปีจำนวนวันจัดงานจะไม่เท่ากันแล้วแต่ว่าปีนั้นๆ จะมีผู้ที่มาบนกับเจ้าพ่อมากน้อยเพียงใด แต่คืนแรกจะเป็นลิเกของศาลเจ้าพ่อเอง คืนถัดไปถึงเป็นการแก้บน ซึ่งที่ผ่านมามีตั้งแต่ 2-7 คืนกันเลยทีเดียว โดยช่วงเช้าของวันที่ 14 จะมีกิจกรรมตักบาตรร่วมกันที่ศาลเจ้า รวมถึงการสรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมงาน เมื่อก่อนจะมีการเข้าทรงด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว นอกจากการแสดงลิเกในช่วงค่ำคืน ยังมีการสรงน้ำเจ้าพ่อ โดยแต่ละครอบครัวจะมีการเตรียมน้ำอบมาเพื่อปะพรมไปที่หินตั้ง มีการกราบไหว้ขอพรจากลูกหลานที่กลับมาบ้านในช่วงทศกาลสงกรานต์ มีการออกร้านของประชาชน ทั้งร้านอาหาร เครื่องดื่ม ซุ้มเกมต่างๆ และเมื่อกิจกรรมการแสดงแก้บนในวันสุดท้ายจบลงจะมีการจัดขบวนแห่ส่งเจ้าพ่อที่ได้รับมาในวันแรก โดยประชาชนที่อยู่ระหว่างทางสามารถสาดน้ำใส่ขบวนรถแห่ ซึ่งถือเป็นการสรงน้ำเจ้าพ่อด้วย
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดอิสาณทะเมนชัย
วัดอิสาณทะเมนชัย เป็นวัดเก่าแก่โบราณที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นปีที่ 418 และเป็นปีสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ที่ใช้ชื่อวัดอิสาณ เป็นเพราะวัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา* ให้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ.1899) เป็นปีที่ 118 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นปีที่ 32 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากหลักฐานพระบรมราชโองการ(ฉบับจริง) ที่ทางวัดได้เก็บรักษาไว้แล้ว ภายในโบสถ์หลังเก่ายังพบภาพเขียนที่ผนัง เป็นสำเนาของพระบรมราชโองการที่พระครูวิทูรธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 8 เป็นผู้แปลและตรวจทานไว้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2529
วัดอิสาณทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นวัดที่ชุมชนโดยรอบมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตลอดจนมรดกทางภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน โดยชาวบ้านได้รวบรวมวัตุถโบราณมาไว้ที่วัดอิสาณทะเมนชัยหลายพันชิ้นด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น พระไม้แกะสลัก คัมภีร์ใบลาน เครื่องปั้นดินเผาประเภทหม้อ ไห และเครื่องประดับโบราณที่เป็นโลหะ เป็นต้น วัตถุโบราณที่พบเจอในพื้นที่ และได้มีการจัดทำทะเบียนไปแล้วบางส่วน โดยทีมคณะวิจัยการจัดทำทะเบียนวัตถุโบราณเพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ดังนี้
- วัตถุโบราณทั่วไป 163 ชิ้น
- คัมภีร์ใบลาน 144 ผูก จารด้วยอักษรโบราณ 2 ชนิด คือ อักษรธรรมอีสาน และอักษรขอมไทย มี 9 หมวด ดังนี้ หมวดชาดก หมวดพระอภิธรรม หมวดนิยายนิทานพื้นบ้าน หมวดอานิสงส์ฉลอง หมวดนิยายธรรม หมวดคัมภีร์ภาษาบาลี หมวดบทสวดมนต์ หมวดพระสุตตันตปิฏก และหมวดตำนานพุทธศาสนา
ต้นละมุด 100 ปี อยู่ในพื้นที่ บ้านทะเมนชัย หมู่ที่ 14
ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนบ้านทะเมนชัย หมูที่ 14 เล่าต่อๆ กันมาว่าตั้งแต่เกิดมาจนถึงจำความได้ก็เห็นต้นละมุดนี้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณบ้านของคุณยายทวดตุ๊ แกล้วกล้า (เสียชีวิตเมื่ออายุ 102 ปี) คุณยายทวด มีลูก 5 คน ลูกคนสุดท้อง คือ คุณยายหล่า พร้อมจันทึก ปัจจุบันอายุ 95 ปี สุขภาพแข็งแรง (ยังมีชีวิตอยู่)
ต้นละมุด 100 ปี เป็นละมุดพันธุ์พื้นเมือง มีความสูงประมาณ 15 เมตร ขนาดรอบลำต้นประมาณ 2 เมตร หรือ 2 คนโอบ ขนาดความกว้างของพุ่มประมาณ 15 เมตร มีผลออกตลอดปี ช่วงที่ออกผลดกที่สุดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม การบำรุงรักษาต้นให้มีอายุยืนยาว คือ ลูกหลานจะนำดิน มาถมโคนต้น เมื่อเห็นว่าดินบริเวณนั้นหลุดร่อนไป ทำให้ดินมีความหนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวของรากและลำต้น ให้แข็งแรง และสร้างบันไดไว้เป็นทางขึ้นสู่ต้นเพราะลำต้นค่อนข้างใหญ่ไม่สามารถขึ้นเองได้ ส่วนการเก็บผลนั้น ก็จะนำไม้ไผ่ที่มีขนาดเล็ก นำหนักเบา ซึ่งมีความยาวประมาณ 7 เมตร ติดตะกร้อที่ปลายไม้เพื่อเป็นไม้สอยสำหรับเก็บเกี่ยวผลผลิต